기사한줄요약
게시물 내용
<matichon>ตัวเลขเงินเฟ้อล่าสุดในเดือนมิถุนายนของเกาหลีใต้ที่เพิ่งเปิดเผยออกมาเมื่อวันอังคาร (5 ก.ค.) นี้ อยู่ที่ 6.0% สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้เล็กน้อย แต่เป็นอัตราเงินเฟ้อที่สูงที่สุดในรอบ 24 ปีของเกาหลีใต้ หรือนับจากเกิดวิกฤตการเงินเอเชียในปี 2541
ด้วยพิษโรคโควิด-19 ต่อเนื่องถึงศึกสงครามยูเครน ส่งผลกระทบเป็นโดมิโนต่อสภาพเศรษฐกิจทั่วโลกให้ทรุดหนัก ดันราคาสินค้าและพลังงานพุ่งสูง ต้นทุนค่าครองชีพพุ่งขึ้นตาม กระทบหนักมากต่อคนรากหญ้าผู้หาเช้ากินค่ำ

มีการสำรวจการรับมือปัญหาค่าครองชีพพุ่งสูงของพนักงานออฟฟิศ ที่เป็นมนุษย์เงินเดือนในเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักเช่นกัน พบว่ามีกลุ่มคนที่หันพึ่งอาหารกลางวันจากร้านสะดวกซื้อมากกว่าการเข้าไปนั่งกินตามร้านอาหารที่แน่นอนว่ามีราคาสูงกว่าแทน เพื่อเป็นการประหยัดเงินในกระเป๋าทางหนึ่ง แม้ราคาสินค้าในร้านสะดวกซื้อก็ไม่สามารถหลบเลี่ยงพิษเงินเฟ้อไปได้ก็ตาม
เช่น พัค มี วอน พนักงานออฟฟิศในกรุงโซล บอกว่า เธอไม่เคยซื้ออาหารกลางวันกินจากร้านสะดวกซื้อมาก่อน กระทั่งร้านอาหารที่เธอชอบไปกินบุฟเฟต์มื้อกลางวันได้ปรับราคาขึ้นไปกว่า 10% ที่ 9,000 วอน (ราว 250 บาท) หลังราคาปรับขึ้น จึงเข้าร้านสะดวกซื้อแทน เพราะคิดว่าราคาสมเหตุผลและรสชาติก็ดีด้วย

บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป แซนวิช และคิมบับหรือข้าวปั้นเกาหลี วางขายอยู่ในร้านสะดวกซื้อ มีราคาไม่ถึง 6,500 วอน เป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมในหมู่มนุษย์เงินเดือนอย่างพัค มี วอน ที่ต้องการลดค่าใช้จ่ายลง
ขณะที่สำรวจไปในตลาดร้านสะดวกซื้อ GS25 ที่มีสาขาอยู่ทั่วทุกหัวระแหงในเกาหลีใต้ มียอดขายอาหารสำเร็จรูปในไตรมาสแรกของปีนี้เพิ่มขึ้นมากกว่า 30% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อน CU และ 7-Eleven คู่แข่งในตลาด ก็มียอดขายเพิ่มขึ้นคล้ายๆ กัน ส่วน Emart24 ที่อยู่ในแถบที่ตั้งอาคารสำนักงาน มียอดขายข้าวกล่องพุ่งขึ้นถึง 50%
แนวโน้มยอดขายสินค้าที่ถีบตัวสูงขึ้นของบรรดาร้านสะดวกซื้อมีขึ้นในขณะที่ราคาอาหารตามร้านอาหารต่างๆ ในเกาหลีใต้ ได้ปรับเพิ่มขึ้นไป 7.4% ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาเมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งปรับขึ้นเร็วที่สุดในรอบ 24 ปี

คาลบิทัง หรือซุปซี่โครงเนื้อพร้อมข้าว ราคาปรับขึ้นไป 12.2% แนงมยอน หรือบะหมี่เย็น ปรับขึ้น 8.1% โดยราคาของแนงมยอน ที่ขายในกรุงโซลตอนนี้ ราคาต่อชามทะลุ 10,000 วอนไปแล้ว จากข้อมูลของสำนักงานผู้บริโภคเกาหลี ขณะที่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในร้านสะดวกซื้อราคายังอยู่ที่พันวอนเศษ
ธนาคารแห่งประเทศเกาหลีคาดการณ์ว่าทุกๆ 1% ที่เพิ่มขึ้นของราคาสินค้าเกษตรที่นำเข้ามา จะทำให้ราคาอาหารแปรรูปเพิ่มขึ้น 0.36% ในปีหน้า และราคาอาหารในร้านอาหารจะเพิ่มขึ้น 0.14% ใน 3 ปีข้างหน้า
การสำรวจโดย Incruit บริษัทด้านทรัพยากรบุคคล เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ยังพบว่า 96% ของพนักงานออฟฟิศเกาหลีจำนวน 1,004 คน มองว่าราคาอาหารกลางวันเป็นภาระสำหรับพวกเขา ในจำนวนนี้เกือบครึ่งหนึ่งกำลังมองหาวิธีลดค่าใช้จ่ายในมื้ออาหารกลางวัน
ร้านสะดวกซื้อคือสิ่งที่ตอบโจทย์ แต่ข้อเสียก็คืออาจไม่ตอบโจทย์กับการได้เอ็นจอยมื้ออาหารกลางวันร่วมกับเพื่อนฝูงผู้ร่วมงานเหมือนนั่งกินในร้านอาหารได้
댓글
0